วันจันทร์ที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

9 เช็คให้ชัวร์ ก่อนซื้อผลิตภัณฑ์อาหาร

9 เช็คให้ชัวร์ ก่อนซื้อผลิตภัณฑ์อาหาร
สมัยนี้มีผู้ประกอบการทำผลิตภัณฑ์ต่างๆ ออกมาให้เราได้ซื้อทานกันมากมาย ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมในครัวเรือนเล็กๆ แบบ SME ไปจนถึงผลิตภัณฑ์จากแบรนด์ดังระดับโลกที่อาจจะเพิ่งเข้ามาบุกตลาดในประเทศไทย
แต่ในเมื่อมีอาหารออกมาล่อตาล่อใจมากมาย เราจะรู้ได้อย่างไรว่าอาหารชนิดไหนที่จะปลอดภัยกับร่างกายของเราจริงๆ ทานแล้วไม่ป่วย ไม่ท้องเสีย ทาง อย. หรือสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา มีวิธีสังเกตง่ายๆ เพื่อเช็คความปลอดภัยของอาหารเหล่านั้นมาฝากกันค่ะ

เช็คให้ชัวร์ ก่อนซื้อผลิตภัณฑ์อาหาร
  1. วัน/เดือน/ปี ที่ผลิต และหมดอายุ
เป็นสิ่งแรกที่เราต้องเช็ค เพราะหากเราเผลอทานอาหารหมดอายุเข้าไปในร่างกายแล้ว มีหวังต้องถูกส่งหามเข้าโรงพยาบาลแน่ๆ นอกจากนี้การทานอาหารที่สุ่มเสี่ยงต่อการหมดอายุบ่อยๆ ยังเสี่ยงโรคต่างๆ รวมไปโรคมะเร็งด้วยนะ

  1. วิธีการบริโภค
อันนี้ก็สำคัญ อาหารบางชนิดอาจจะสามารถเปิดทานได้เลย แต่อาหารบางชนิดอาจจะต้องอุ่นก่อนทาน ตอนอุ่นก็อาจจะต้องเปิดฝาแง้มไว้เล็กน้อย ป้องกันการระเบิดตัวเองในไมโครเวฟ หรืออาหารบางชนิดอาจมีขั้นตอนพิเศษ เช่น เติมน้ำก่อนอุ่น หรือแม้กระทั่งห้ามทานกับอาหารบางชนิด เพราะฉะนั้นก่อนซื้อ ลองส่องวิธีทานดูก่อนว่าสะดวกหรือไม่

  1. ฉลากภาษาไทย แสดงชื่อผลิตภัณฑ์
แม้ว่าจะเป็นอาหารที่นำเข้ามาจากต่างประเทศ แต่หากมีการจำหน่ายในประเทศ ผลิตภัณฑ์นั้นๆ จะต้องมีฉลากข้อมูลผลิตภัณฑ์ภาษาไทยกำกับทุกครั้ง

  1. ข้อมูลโภชนาการ
เหลือบไปดูข้อมูลโภชนาการของอาหารสักหน่อยก่อนหยิบลงตะกร้า จะได้ทราบว่าสิ่งที่เรากำลังซื้อทาน ประกอบไปด้วยอะไรบ้าง ให้สารอาหารอะไรแก่เราบ้าง หากเรามีความจำเป็นต้องจำกัดสารอาหารบางชนิด เช่น หมอบอกให้ลดน้ำตาล เราก็ควรจะมองหาว่าอาหารชนิดนั้นน้ำตาลสูงหรือไม่ เป็นต้น

  1. ส่วนประกอบสำคัญ
นอกจากจะบอกได้ว่าอาหารชนิดนั้น ส่วนใหญ่แล้วประกอบไปด้วยอะไร มีน้ำตาล หรือไขมัน สารปรุงแต่งรส รูป กลิ่น สี มากแค่ไหนแล้ว คนที่แพ้อาหารบางชนิดยิ่งควรต้องเช็ค เพื่อมองหาส่วนผสมที่อาจทำให้ร่างกายเกิดอาการแพ้ได้ เช่น อาหารบางชนิดอาตมีส่วนผสมของถั่ว หรือนมวัวที่บางคนอาจแพ้ เป็นต้น

  1. ข้อแนะนำ หรือข้อควรระวังในการใช้
นอกจากเรื่องของวิธีการทานแล้ว ผลิตภัณฑ์อาหารบางชนิดอาจมีข้อควรระวังอื่นๆ ที่สำคัญกับร่างกาย เช่น อาหารชนิดนั้นอาจไม่เหมาะสำหรับเด็กอายุต่ำกว่า 3 ปี หญิงมีครรภ์ไม่ควรทาน หรือไม่ควรบริโภคเกิน 3 หน่วยต่อวัน เพื่อป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้นได้ เป็นต้น

  1. ชื่อ และที่ตั้งของผู้ผลิต หรือผู้จัดจำหน่าย
ความน่าเชื่อถือของผลิตภัณฑ์มาจากแหล่งผลิตนี่แหละ หากไม่มีการระบุผู้ผลิต หรือผู้นำเข้า หากผลิตภัณฑ์มีปัญหา เราไม่อาจติดต่อผู้ผลิตได้ จึงเป็นเรื่องอันตราย นอกจากนี้หากเป็นผู้ผลิต หรือผู้นำเข้าที่ชื่อเสียงที่ไม่ค่อยดี ก็อาจเลี่ยงการบริโภคได้ง่ายๆ

  1. เลขสารบบอาหารในเครื่องหมาย อย.
อันนี้อาจจะพิสูจน์ในแว่บแรกที่เห็นยากหน่อย แต่เอาเป็นว่าก่อนซื้อมองหาเครื่องหมายของ อย. ก่อน ถ้ามี อย. และมีเลขสารบบอาหารครบถ้วน ก็พอจะวางใจซื้อมาทานได้ หากซื้อกลับบ้านแล้วพบว่าอะไรผิดแปลกชอบกล ก็สามารถนำเลขสารบบไปหาข้อมูลเพิ่มเติมในอินเตอร์เน็ตได้อีกครั้ง

  1. เช็คความจำเป็น
เริ่มเข้าสู่ข้อที่สำคัญของนักช้อป หากเป็นอาหารเสริมที่มีการโฆษณาเกินจริงอาจจะต้องใช้วิจารณญาณให้มากขึ้น ค้นหาข้อมูลผลิตภัณฑ์ก่อนซื้อ มีสติ ไม่หลงคำโฆษณามากจนเกินไป และที่สำคัญ เช็คตัวเองว่าเราต้องการผลิตภัณฑ์นั้นๆ มากน้อยแค่ไหน คุ้มค่ากับเงินทีต้องเสียไปหรือไม่

สุขภาพที่ดี เริ่มต้นด้วยอาหาร แต่หากสุขภาพจะพัง ก็เริ่มต้นจากอาหารด้วยเช่นกัน ดังนั้นควรระมัดระวังในสิ่งที่เราบริโภค เพื่อสุขภาพที่แข็งแรง ไม่มีโรคภัยไข้เจ็บเบียดเบียนจนต้องเสียเงินเพื่อรักษาตัวในโรงพยาบาลกันเลยนะคะ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น